วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

โรคไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออกเริ่มระบาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ป่วย 2,418 รายและเสียชีวิต 240 ราย (10%) โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คือ เชื้อไวรัสเต็งกิ่ว (Dengue) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและพบทุกปีคือ ชนิดที่ 2 และมักทำให้อาการรุนแรง ส่วนชนิดที่ 4 จะพบได้เพียงบางปีเท่านั้นคนส่วนใหญ่จึงไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อ ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่า ๆ กัน เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่พบว่าเป็นไข้เลือดออก คือ อายุประมาณ 2 เดือน เด็กอายุ 5-9 ปี มีโอกาสเป็นโรคบ่อย ระยะหลังพบว่าเด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่มีแนวโน้มเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง แต่จะต้องติดผ่านทางยุงลายเท่านั้น ยุงลายซึ่งเป็นยุงที่อยู่ในเมืองเพาะพันธุ์ในน้ำใส เช่นในภาชนะที่ขังน้ำฝน แอ่งน้ำขังบริเวณบ้าน โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้กันมด ยุงลายจะกัดเฉพาะเวลากลางวัน โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่กำลังเป็นไข้เลือดออกและมีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวผู้ป่วย เมื่อไวรัสตัวนี้เข้าไปอยู่ในตัวยุงจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้ตลอดอายุไขของยุง (ประมาณ 1-2 เดือน) ยุงจะแพร่เชื้อไวรัสได้ทุกครั้งที่กัดคนโรคไข้เลือดออกมักระบาดในฤดูฝนเนื่องจากจำนวนยุงจะมีมากขึ้นในฤดูนี้


ที่มา http://www.kingdomplaza.com/

คนที่ได้รับเชื้อ แบ่งได้ 4 กลุ่มคือ

1. ไม่มีอาการใด ซึ่งส่วนใหญ่ 80-90 % อยู่ในกลุ่มนี้

2. ไข้จากการติดเชื้อไวรัส ที่ไม่สามารถแยกได้จากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ

3. โรคไข้เต็งกิ่ว (Dengue Fever) โดยมีอาการเด่นคือ ไข้สูง 39-41 องศาเซลเซียส มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้ออย่างมาก ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน จะมีระยะไข้ประมาณ 2-6 วัน เมื่อหายเป็นปกติผู้ป่วยอาจจะมีผื่นแดงตามตัว แขน ขา อาจพบมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือเลือดออกได้แต่อาการจะไม่รุนแรง วิธีการรักษา การรักษาโรคไข้เต็งกิ่ว เป็นการรักษาตามอาการ ผู้ป่วยสามารถรับยาแก้ไข้ พาราเซตามอลได้ ควรเช็ดตัวให้ผู้ป่วยเมื่อมีไข้สูง ห้ามให้ยาลดไข้ที่มีแอสไพริน ควรนอนพักและดื่มนำให้เพียงพอ หากมีอาการเหงื่อออกมากหรืออาเจียนควรรับประทานน้ำเกลือชดเชยด้วย

4. โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) แบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

ระยะไข้ เชื้อมีระยะฟักตัวตั้งแต่ถูกยุงกัด จนเริ่มมีไข้ประมาณ 5-8 วัน เด็กที่เป็นไข้เลือดออกระยะเริ่มต้นจะมีอาการเหมือนกับไข้เด็งกิ่ว มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 39-41 องศาเซลเซียส นาน 2-7 วัน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการของหวัดที่ชัดเจน เช่น ไอ น้ำมูก แต่อาจพบเจ็บคอเล็กน้อยร่วมกับไอเล็กน้อย อาการเด่นที่พบคือหน้าตาจะดูแดง ๆ อาการอื่นที่พบร่วมด้วยบ่อยคือ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดตามตัว ในเด็กเล็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ด้วย

ระยะช็อค เป็นระยะต่อจากไข้ ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เด็กจะดูป่วยมากกว่าเดิม ในโรคอื่น ๆ เมื่อไข้ลด เด็กจะสบายดี ทานได้เล่นได้ แต่โรคนี้ระยะไข้ลดเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด ในรายที่อาการหนัก เด็กจะทรุดลงเร็วมาก มือเท้าเย็น เหงื่อออกมาก กระวนกระวาย ปวดท้อง แน่นท้อง กระสับกระส่าย หายใจแรงและเร็ว ชีพจรเต้นเบาเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำลงจนช็อค ในขณะที่บางรายจะมีเลือดกำเดาไหล จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ ทำให้อาเจียนเป็นเลือดดำ ๆ หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ระยะช็อคส่วนใหญ่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในรายที่อาการไม่มาก จะมีอาการชีพจรเต้นเบาเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำลงเล็กน้อย เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วกลับเป็นปกติได้เองหรือหลังได้รับการรักษาช่วงระยะสั้น ๆ

ระยะพักฟื้น ภายหลังจากที่ผู้ป่วยผ่านพ้นระยะอันตรายมาแล้วก็จะเข้าสู่ระยะพักฟื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการช็อคก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มีปัสสาวะมาก มีความอยากอาหาร และอาจพบผื่นแดง ๆ ทั้งตัวโดยเฉพาะบริเวณขา

การวินิจฉัย โดยทั่วไปแล้วอาการแสดงร่วมกับการตรวจพบเกร็ดเลือดต่ำ และความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้นก็เพียงพอ แต่ในบางรายที่อาการไม่ชัดเจนอาจต้องใช้การตรวจพิเศษร่วมด้วย การตรวจหาตัวเชื้อไข้เลือดออกด้วยวิธี PCR เป็นวิธีหนึ่งที่ทางโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา นำมาใช้เพื่อความแน่นอนในการวินิจฉัย โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่วันแรกที่มีไข้ และมีความไวสูงถึง 94 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาประมาณ 2 วันเท่านั้น

วิธีการรักษา หลักการรักษาโรคไข้เลือดออกที่สำคัญและให้ผลดีคือ การให้น้ำเกลือในปริมาณและชนิดของน้ำเกลือที่เหมาะสม กล่าวคือเมื่อผู้ป่วยอาการยังไม่รุนแรงนักแพทย์ก็จะให้น้ำเกลือพอสมควรและจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น นอกจากนี้การเฝ้าระวังดูอาการของผู้ป่วยรวมทั้งการวัดความดันโลหิตและการตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แพทย์ได้รู้สภาพของผู้ป่วยก่อนที่อาการจะเป็นมากจะได้ให้การรักษาทันท่วงที ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรืออาการมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องให้เลือดหรือเกร็ดเลือดชดเชย

ไข้เลือดออกในระยะเริ่มต้นอาจมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป นอกจากนี้อาการของโรคไข้เด็งกิ่วและไข้เลือดออกในระยะ 2-3 วันแรกจะมีอาการเหมือนกัน หลังจากนั้นอาการของแต่ละโรคจึงจะปรากฎชัดเจนขึ้น ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและทำการตรวจรักษาได้ทันการ

(ที่มา นพ. พุทธชาติ ดำรงกิจชัยพร กุมารแพทย์ และกุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา จาก http://www.pattayahealth.com/ )






ไม่มีความคิดเห็น: